Resilient & Recovery Cities : ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด ๑๙
โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง

เมืองในมุมมองเศรษฐศาสตร์
เมืองเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประชากรเข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากขึ้นจาก 23 ล้านคนในปี 2553 เพิ่มเป็น 30 ล้านคนในปัจจุบัน ปี 2564
จำนวนประชากรในเขตเมืองและนอกเขตเมือง ปี 2553 และปี 2564

เมืองในฐานะเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ย่อมต้องให้ความอุ่นใจและมีความปลอดภัยสำหรับพลเมือง โดยเฉพาะความปลอดภัยส่วนบุคคล ผลสำรวจความปลอดภัยของเมืองทั่วโลก โดย The Economist Intelligence Unit (EUI) ปี 2564 กรุงเทพฯ ได้อันดับที่ 43 จาก 60 เมืองทั่วโลก โดยมิติที่ได้คะแนนต่ำคือ มิติด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น อาชญากรรมบนท้องถนน ความรุนแรงทางเพศ/ข่มขืนกระทำชำเราที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เมืองต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อคุณภาพชีวิต การที่เมืองไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อการอยู่อาศัยของพลเมือง ตัวอย่างหนึ่งคือ ความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียวของเมือง หรือการสร้างระบบสาธารณูปโภคสีเขียว (green infrastructure) เพื่อช่วยเรื่องคุณภาพอากาศ ลดภาวะโรคร้อน และสนับสนุนการมีกิจกรรมภายนอกอาคารของพลเมือง อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 7 ตารางเมตร/คน ยังต่ำกว่าเกณฑ์ของ WHO ที่ระบุว่าควรมี 9 ตารางเมตร/คน ในขณะที่สิงคโปร์มีพื้นที่ สีเขียวต่อประชากรสูงสุด 66 ตารางเมตร/คน

การที่เมืองเป็นที่อยู่ร่วมกันของทุกคนเป็นชุมชนเมือง ซึ่งมีหลากหลายบริบทในแต่ละชุมชน ทั้งทางกายภาพในลักษณะของพื้นที่ ลักษณะของบุคคลและครอบครัว และลักษณะของวัฒนธรรม กล่าวคือ เป็นเรื่องของ “เมือง” “คน” และ”วิถีชีวิต” จึงต้องผสมผสาน ถ้อยทีถ้อยอาศัย และอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนของเมืองในมิติต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างหนึ่งคือชุมชนแออัด นิยามของภาครัฐ ชุมชนแออัด หมายถึง ชุมชนส่วนใหญ่ที่มีอาคารหนาแน่น ไร้ระเบียบ และชำรุดทรุดโทรม ประชาชนอยู่อย่างแออัด สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย โดยให้ถือเกณฑ์ความหนาแน่นของบ้านเรือนอย่างน้อย 15 หลังคาเรือนต่อพื้นที่ 1 ไร่ ข้อมูลล่าสุดจาก World Development Indicators ประเทศไทยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดคิดเป็น 23% ของประชากร ในเขตเมือง
การหลั่งไหลของประชากรเข้าสู่ในเขตเมือง นำมาซึ่ง ‘คนจนเรื้อรังในเขตเมือง’ ในระยะเวลาที่ผ่านมายาวนาน กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนคนจนเมืองต่ำที่สุดเทียบกับภาคอื่น (ดังภาพด้านล่าง) แสดงว่าหากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะเป็นคนจนมีน้อยกว่าอาศัยในเขตอื่น อธิบายการย้ายถิ่นของประชากรจากภาคอื่นเข้ามาอาศัย และทำงานในกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
สัดส่วนคนจนในเขตเมือง 2539-2563

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โอกาสตกเป็นคนจนเมืองเริ่มไม่ห่างกันมากนักระหว่างภูมิภาค เห็นได้จากสัดส่วนคนจนเมืองในภาคต่างๆ ที่โน้มเข้าหากันมากขึ้น จึงอธิบายกระแสการย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ ที่มีอัตราลดต่ำลงในระยะหลังๆ แม้กระนั้น คนจนเมืองในสังคมไทยยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งปัญหาการครองชีพที่ต้องใช้เงิน ความแออัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ความรุนแรงและอาชญากรรม ความเสี่ยงต่ออุบัติภัยและภัยธรรมชาติ ตลอดจนความเสี่ยงในการระบาดของโรค การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องมีความหลากหลายและรอบด้าน โดยรัฐบาลต้องมีบทบาทที่สำคัญ คือ การจัดสวัสดิการในด้านต่างๆ เพื่อให้คนจนเมืองสามารถมีโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิต และสามารถหลุดพ้นจากความยากจน การดูแลด้านที่อยู่อาศัยและสภาพชุมชนเมือง เพื่อให้พ้นสภาพความแออัด ตลอดจนการกระจายอำนาจการดูแลคนจนเมืองให้กับรัฐบาลส่วนท้องถิ่น และการสร้างฐานข้อมูลคนจนเมือง
เมืองกับโควิด-19
รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90 ของเคส) มีศูนย์กลางการระบาดอยู่ในเขตเมือง เนื่องจากลักษณะของชุมชนเมืองที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และภาวะการมีปฏิสัมพันธ์กันสูงทั้งจากในพื้นที่ และจากภายนอกพื้นที่ จึงเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการความหนาแน่นที่เหมาะสมของเมือง โดยให้ความสำคัญกับลักษณะและภาวะของความหนาแน่นดังกล่าว โดยพลเมืองต้องสามารถเข้าถึงบริการของเมือง และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดทอนความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากเหตุวิกฤติต่างๆ
โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่ยุคดิจิทัลของประเทศและเมือง ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การเรียนและการอบรมออนไลน์ การทำงานทำธุรกิจจากที่บ้าน การบริหารจัดการและการให้บริการจากภาครัฐผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญและพัฒนาต่อเนื่องไปแม้สถานการณ์คลี่คลายลง เพื่อปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตได้ในภาวะปกติใหม่ และเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่ หลายเมืองทั่วโลกใช้เทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะในการจัดการเรื่องเส้นทางการระบาด social distancing และเก็บข้อมูล mobility pattern เป็นต้น และบางเมืองมีการปรับห้องสมุดเมืองเป็น online library และงานแสดงศิลปะวัฒนธรรมของเมืองผ่านทางออนไลน์ อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องความแตกต่างกันอย่างมากในการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี’ (Digital Divide) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่จะขาดความรู้และ/หรืออุปกรณ์ในการใช้เทคโนโลยีภาครัฐ จึงควรมีมาตรการช่วยเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับทุกคน เช่น free internet รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้พลเมืองสามารถปรับตัว และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยียุคดิจิทัลอย่างเต็มที่และเท่าเทียม
การพัฒนาเมืองในอนาคตจำเป็นต้องที่มีทิศทางที่ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของพลเมืองผู้อยู่อาศัย ตอบโจทย์ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเริ่มจากการปรับระบบการเมืองสำหรับท้องถิ่น โดยควรจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของแต่ละเมือง ผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม มีระบบการบริหารจัดการที่มีฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อทำการตรวจสอบการทำงานของ ‘เจ้าเมือง’ และผู้ที่เจ้าเมืองเลือกมาทำงานด้วย การตรวจสอบจะต้องสามารถทำได้อย่างเปิดกว้าง มีต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจทำได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังเช่นที่เมืองใหญ่ ๆ ในต่างประเทศทำอยู่ รวมทั้งอาจมีการทำ ‘ประชามติ’ ออนไลน์ในเรื่องที่สำคัญ ๆ เป็นระยะ ไม่ใช่เพียงให้มีการเลือกตั้งทุก 4 ปีครั้ง ถึงจะปรับเปลี่ยนนโยบายตามความต้องการของพลเมืองได้ ซึ่งอาจเป็นเวลาที่นานเกินไปภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่นในปัจจุบัน