ผังเมืองวิถีใหม่

โดย รศ.ดร. นพนันท์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธ์ศาสตร์เมือง

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลกและในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี และมีแนวโน้มว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการมีจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด 19 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มการระบาด หรือคลัสเตอร์ในกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่มีการรวมตัวกันของผู้คนเป็นจำนวนมาก การแพร่ระบาดในสภาพแวดล้อมที่มีความแออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดหรือแหล่งเสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาการเข้าถึง และข้อจำกัดในการให้บริการรักษาพยาบาล ซึ่งสามารถนำมาถอดเป็นบทเรียนเพื่อการวางผังเมืองวิถีใหม่ต่อไป

ผังเมืองวิถีใหม่จะต้องมีการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เคยเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด 19 อย่างเข้มงวด กิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของผู้คนเป็นจำนวนมาก ได้แก่ โรงงาน ตลาด สถานบริการ สนามมวย ที่พักคนงาน เรือนจำ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรม การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวนี้ ย่อมมีความจำเป็นต่อการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งมีประชาชนในย่านการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการควบคุมระยะถอยร่นของอาคารจากถนน และแนวเขตที่ดิน (building setback) นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต่อการใช้อำนาจ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการควบคุมระบบสาธารณสุขภายในอาคาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอีกด้วย

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด 19 มีปัจจัยที่เชื่อมโยงกับความหนาแน่นของประชากร ดังนั้น การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งในย่านการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต่อการควบคุม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (floor area ratio หรือ FAR) ที่เหมาะสม ประกอบกับการควบคุมอัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่ดิน (buildingcoverage ratio หรือ BCR) หรืออัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (open space ratio หรือ OSR) ตลอดจนข้อกำหนดระยะถอยร่นของอาคารจากถนน และแนวเขตที่ดิน (building setback) และข้อกำหนดความสูงของอาคาร (building height)เพื่อผลต่อการระบายถ่ายเทของอากาศ และการได้รับความร้อน และรังสียูวีจากแสงแดดในระดับที่เหมาะสม ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยการฟุ้งกระจายทางอากาศและการสัมผัส

การเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล ให้แก่ผู้ป่วยที่อาจมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด 19 ในระยะต่อไป ย่อมมีความจำเป็นต่อการเพิ่มทั้งจำนวนสถานพยาบาล และจำนวนเตียงผู้ป่วย ตลอดจนการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของสถานพยาบาล ซึ่งอาจรวมถึงอาคารอเนกประสงค์ต่าง ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม ให้มีการกระจายตัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะต้องอาศัยการวางและจัดทำแผนผัง แสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ซึ่งต้องวางและจัดทำให้สอดคล้องกับแผนผังอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท และแผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง ตลอดจนแผนผังแสดงที่โล่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผังเมืองรวม ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

                 ภาพที่ 1 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ที่มา: UN.,Department of Economic and Social Affairs, 2020.

ท้ายที่สุด การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโควิด 19 ที่มักเกิดขึ้นในชุมชนแออัด หรือแหล่งเสื่อมโทรมที่มีข้อจำกัดด้านการสาธารณสุข การดำเนินการทางผังเมือง จึงย่อมมีความจำเป็นต่อการดำเนินโครงการปรับปรุงชุมชนแออัด หรือแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งอาจกระทำได้โดยการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะ โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นบทบาทหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติอาจดำเนินโครงการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) อาจดำเนินการปรับปรุงชุมชนแออัด หรือแหล่งเสื่อมโทรม ตามบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ขอขอบคุณบทความโดย รศ.ดร. นพนันท์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธ์ศาสตร์เมือง

 

 

ข้อมูลนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่