โรคโควิด-19 : การระบาด ผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงของเมือง

โดย ศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์  กรรมการสมาคมนักผังเมืองไทย

โรคโควิด-19 : การระบาด ผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงของเมือง

การเกิดโรคระบาดใหญ่มีมาในประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของราชอาณาจักรสยาม กล่าวคือ เมืองอู่ทอง ถูกทิ้งร้างเมื่อเกิดอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 1890 จนพระเจ้าอู่ทองต้องอพยพประชากรลงมาตั้งถิ่นฐานที่อยุธยา เหตุที่การสุขาภิบาลยังไม่ได้พัฒนา การเกิดโรคระบาดจากเชื้ออหิวาตกโรคจึงเกิดตลอด สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (1) การเกิดโรคระบาดใหญ่ในระดับโลกก็เกิดจากกาฬโรค ไข้ทรพิษ และอหิวาห์ตกโรค ทำให้เกิดการระบาดในประเทศต่างๆ ซึ่งมีผลจากการเดินทางค้าขายระหว่างทวีปต่างๆ ภายหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการพัฒนายานพาหนะ ทั้งเรือ เครื่องบิน รถไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีความเร็วสูงขึ้น เมื่อเกิดโรคระบาดก็ทำให้การแพร่เชื้อโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากขึ้นในรอบประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก ตั้งแต่ไข้หวัดสเปนไข้หวัดอาเซียน ไข้หวัดฮ่องกง และโควิด-19 ซึ่งเกิดตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 นับเป็นโรคระบาดที่ทำลายล้างสังคมมนุษย์ ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผลให้ประชากรโลกเกิดภาวะเจ็บป่วยแล้ว 244.2 ล้านคน และตาย 4.9 ล้านคน (จนถึงตุลาคม พ.ศ. 2564) (2)
          1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม

          ด้านเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน พ.ศ. 2563 ว่า รายได้ประชาชาติ (Gross Domestic Product, GDP) อยู่ในสภาพถดถอย -6.1% ซึ่งเป็นผลกระทบจากโรคโควิด-19 อยู่ในสถานะที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี นับแต่เศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด ในช่วง พ.ศ. 2560 – 2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 37.85 ล้านคน ในขณะที่ พ.ศ. 2563 มีนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม จำนวน 6.70 ล้านคน โดยปกติภาคการท่องเที่ยวทำให้เกิดรายได้ประชาชาติ 18.4% และมีห้องพักนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ 784,118 ห้อง (3)

          การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 แต่ละรอบมีการห้ามกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยลดกิจกรรมรวมกลุ่มของผู้คนในสถานที่ปิดล้อม ลดการเดินทาง เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง สำนักงาน ธนาคาร สถานที่ท่องเที่ยว สนามกีฬา ร้านอาหารและเครื่องดื่ม มีผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของเมืองอย่างมาก

          ด้านสังคม การห้ามประกอบกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยอาศัยกฎหมายในระดับต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และการสั่งห้ามการเดินทาง และกิจกรรมในที่สาธารณะ โดยอาศัย พ.ร.บ. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลต่อการอพยพโยกย้ายของผู้ใช้แรงงานในเมืองขนาดใหญ่ ที่มีการติดเชื้อสูงและมีการจ้างงานใน ภาคพาณิชยกรรมและการบริการ ภาคการท่องเที่ยวและการก่อสร้าง มีผลต่อการอพยพโยกย้ายของแรงงานกลับไปบ้านเกิดเป็นระลอกใหญ่ ตั้งแต่พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดที่มีฐานเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว การค้าและบริการ เช่น กทม.และปริมณฑล จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) จังหวัดเชียงใหม่

          การอพยพจากเมืองที่มีการจ้างงานด้านการท่องเที่ยว การค้า และบริการ กลับไปสู่พื้นที่ชนบท ทำให้มีการรื้อฟื้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าทำการเกษตรมากขึ้น ทั้งพืชผักผลไม้ อาหารแปรรูป และพืชสมุนไพร ที่ใช้ป้องกันรักษาโรคโควิด-19 และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานว่า มีการใช้น้ำชลประทานมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2563

          2) ผลกระทบต่อการบริการสาธารณะ

          สาธารณูปโภค หมายถึง การบริการสาธารณะที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา การขนส่งมวลชน ถนนประเภทต่างๆ การระบายน้ำและการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ พบว่า การที่ประเทศไทยขาดนักท่องเที่ยวประมาณ 38 ล้านคน/ปี ทำให้อุปสงค์ของการใช้สาธารณูปโภคลดลงทุกประเภท ทั้งไฟฟ้า ประปา การใช้ถนนประเภทต่างๆ ในกรณีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นระบบรถไฟฟ้า มีผลต่อสถานการณ์เงินที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในแผนที่คาดไว้ เนื่องจากผู้ใช้บริการมีจำนวนลดลง

          ในด้านการจัดการขยะ การลดลงของนักท่องเที่ยวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 ทำให้ขยะมูลฝอยชุมชนลดลง เช่น กรุงเทพมหานคร ลดลงจาก 10,560 ตัน/วัน เหลือ 9,370 ตัน/วัน ภูเก็ตลดลงจาก 970 ตัน/วัน เหลือ 840 ตัน/วัน เมืองพัทยาลดจาก 850 ตัน เหลือ 380 ตัน/วัน และขณะเดียวกันขยะพลาสติกเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ การสั่งอาหารและสินค้าต่างๆ (4) นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ปริมาณขยะที่เก็บรวบรวมจากสถานพยาบาล สถานกักกันผู้ติดเชื้อ จากการให้บริการตรวจและรักษา การฉีดวัคซีน มีขยะถุงมือ ชุดปลอดเชื้อ (PPE) เข็มฉีดยา ฯลฯ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 178 ตัน/วัน (5)

          สาธารณูปการ หมายถึง การบริการสาธารณะที่ดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชน เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา ที่อยู่อาศัย นันทนาการ การรักษาความปลอดภัย ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ การระบาดของโรคโควิด-19 มีผลให้ไม่สามารถเปิดดำเนินการในที่ตั้งได้ เช่น สถานศึกษา มีผลต่อประสิทธิผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก

          การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การระบาดในเมืองขนาดใหญ่ เมืองอุตสาหกรรม มีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทั้งในด้านอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และบุคลากร อย่างไรก็ตาม หน่วยราชการได้เปิดโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น กรุงเทพมหานคร เปิดโรงพยาบาลบุษราคำ โรงพยาบาลเอราวัณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลต่างๆ ร่วมกับโรงแรม จัดทำสถานที่รักษาร่วมกับโรงแรม (Hospitel) หน่วยงานของรัฐและเอกชนร่วมกันสร้างโรงพยาบาลสนาม โดยใช้สนามกีฬา หอประชุม โรงเรียน รวมทั้งการจัดสถานที่แยกผู้ป่วยของชุมชน (Home Community Isolation) โดยใช้สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์ชุมชน ฯลฯ

          3) การเปลี่ยนแปลงของเมือง มีแนวโน้มและข้อเสนอแนะ ดังนี้

               3.1) การควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด

              • ชายแดนมาเลเซีย การปิดชายแดนมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาเป็นอย่างมาก รวมทั้งจังหวัดนราธิวาสและภูเก็ต
              • ชายแดนพม่า มีปัญหาการเมือง/เศรษฐกิจ มีผู้หนีเข้าเมืองที่ติดเชื้อจำนวนมาก

               3.2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารโรคระบาด

              • การพัฒนาระบบฐานข้อมูลดิจิทัลของเมือง (Big Data) ที่เชื่อมโยงกับการให้บริการสาธารณะ สามารถนำมากำหนดโซนผู้ติดเชื้อในระดับความรุนแรงต่างๆ เช่น สูง ปานกลาง ต่ำ เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ในการจัดการป้องกันและลดการแพร่เชื้อ
              • การใช้จ่ายเงินออนไลน์โดยไร้การสัมผัส ช่วยลดการติดเชื้อ
              • การประยุกต์ใช้ Model ของเมืองอู่ฮั่นและกวางโจว เป็นสิ่งที่ดี เช่น การตั้งโรงพยาบาลสนาม
              • การใช้นวัตกรรมการจัดการอื่นๆ เช่น Quarantine Hospitel, Community isolation ฯลฯ

               3.3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจการส่งออกที่ยังดำเนินการได้ดี

              • ภาคการเกษตร : อาหารทะเล ปศุสัตว์ ผลไม้ สมุนไพร

              • การผลิตอาหาร (Food City Concept)

“เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาสิของจริง”

– การผลิตพืชสมุนไพร เพื่อใช้สร้างภูมิคุ้มกัน/รักษาโรค (Herbal City Concept)

              • ภาคอุตสาหกรรม ยาและเวชภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์
              • การท่องเที่ยว : Phuket sandbox เป็นแนวทางที่ควรสนับสนุนให้เกิดในที่ปลอดภัย
              • เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางที่เหมาะสมในกิจกรรมต่างๆ

               3.4) อุปสงค์และอุปทานการใช้อาคาร

              • อุปสงค์ลดลงในการใช้พื้นที่สำนักงาน สถานศึกษา คอนโดมิเนียม ที่พักนักท่องเที่ยว เนื่องจากการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์
              • เกิดอุปทานส่วนเกิน การก่อสร้างและการลงทุนจะชะงักในระยะสั้น

               3.5) การยกมาตรฐานสุขอนามัย

              • ที่อยู่อาศัย : ชุมชนแออัด ชุมชนรายได้น้อย
              • สถานที่ทำงาน : โรงงาน ตลาด สถานที่ก่อสร้าง
              • รถขนส่งมวลชน : เรือโดยสาร รถโดยสาร รถไฟฟ้า

               3.6) การกระจายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัล

              • การพัฒนาในเมืองต่างๆ และชนบท ลดความหนาแน่นในเมืองใหญ่
              • แนวโน้มการจัดพื้นที่ทำงานร่วม (Co-working space) ในเมืองขนาดเล็ก
              • สมดุลใหม่ของเมืองและชนบท (Urban & Rural Balance) ลดความหนาแน่นในเมืองใหญ่

               3.7) เป้าหมายการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

              • การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเมืองชาญฉลาด นำไปสู่การจัดการสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการประหยัดทรัพยากร
              • นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal (SDG 11) ที่ครอบคลุมผู้คนกลุ่มต่างๆ ความปลอดภัย การปรับสภาพและความยั่งยืน ซึ่งกำหนดกรอบแนวคิด และแนวทางดำเนินการ โดยองค์กรสหประชาชาติ (6)

ขอขอบคุณบทความโดย ศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ กรรมการสมาคมนักผังเมืองไทย

เอกสารอ้างอิง

(1) มติชนสุดสัปดาห์. 3 โรคระบาดสำคัญของสยาม อหิวาห์ ไข้ทรพิษ กาฬโรค ทำแสบกับเราอย่างไรบ้าง.

    [ออนไลน์] 2564. เข้าถึงได้จาก http://www.silpa-mag.com

(2) COVID-19 cases and deaths. 2021. available on http://worldmeters.info

(3) Tourism Statistics Thailand 2000-2020. 2021. available on http://thaiwebsites.com

(4) ศิริพร คำวานิล และ ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน. ขยะมูลฝอยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เป็นอย่างไร. วารสาร

     พยาบาลสาธารณสุข. พฤษภาคม-สิงหาคม 2563, หน้า 144-157.

(5) สำนักข่าวเวิร์คพอยท์. มูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาล. [ออนไลน์] 2564. เข้าถึงได้จาก

     http://www.workpointtoday.com

(6) UNDP. 2021. Sustainable Development Goal. available on http://undp.org

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่