Resilient & Recovery City : ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด19
โดย คุณสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศบาลนครภูเก็ต

Resilient & Recovery City : ขับเคลื่อนเมือง สู่ความสุข ในยุคโควิด19
กลางเดือนมกราคม 2563 ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นของประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อโควิด – 19 รายแรกเป็นชาวต่างประเทศ แม้นจะมีการเฝ้าระวัง และใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มข้น แต่ในที่สุดเมื่อผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภูเก็ตจำเป็นต้องปิดการเดินทางเข้าออกเกาะภูเก็ต ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาด
“ภูเก็ต…เมืองท่องเที่ยว สู่เมืองภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง”

การปรับปรุงพื้นที่ลานแอโรบิค สวนเฉลิมพระเกียรติ เพื่อกำหนดระยะห่างในการเต้น
เมื่อโลกเปลี่ยน เมืองต้องปรับ วิกฤตในครั้งนี้ ทำให้เทศบาลนครภูเก็ต จำเป็นต้องทบทวนการให้บริการสาธารณะในรูปแบบใหม่ ให้ประชาชนยังสามารถทำกิจกรรมปกติต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการ DMHTT ของกระทรวงสาธารณสุข แนวคิดการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง ถูกนำมาใช้ เพื่อลดความหนาแน่นของการใช้พื้นที่ เช่น การกำหนดเส้นทางเข้าออกเพียงทางเดียว และจำกัดเวลาการใช้พื้นที่สวนสาธารณะเป็นช่วงเวลา มีการปรับปรุงพื้นที่การใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาด เช่น การปรับปรุงพื้นที่ลานแอโรบิค สวนเฉลิมพระเกียรติ เพื่อกำหนดระยะห่างในการเต้น
ประกอบกับภายในเขตเทศบาลนครภูเก็ต มีการมีการก่อสร้างทางเท้าที่ขนาดความกว้างอย่างน้อย 1.50 เมตร ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในช่วงของการแพร่ระบาด คนในชุมชนสามารถเดินออกกำลังกายได้ในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ ลดการเดินทางของประชาชนไปยังสวนสาธารณะ
สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของเมืองแล้ว พื้นที่ย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเมือง เป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมเข้ามาท่องเที่ยว ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เทศบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนย่านเมืองเก่า เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี และวางมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น สำหรับตลาดสดสาธารณะของเทศบาลทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้
รวมทั้งการกำหนดให้โรงแรมในเขตเทศบาล จำนวน 4 แห่ง คือ โรงแรมแกรนด์สุพิชฌาย์ และโรงแรมภูเก็ตทาวอินน์ เป็นศูนย์สถานที่กักกันระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Quarantien) เพื่อดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ และจัดตั้งศูนย์โควิดชุมชนระดับอำเภอ (Community Isolation) ในโรงแรมบูกิตตา บูทีค โฮเทล และ บ้านปอ อพารต์เมนท์ เพื่อให้เป็นที่พักรักษา ดูแลผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่หนัก ทำให้โรงแรมมีรายได้จากการให้บริการ ลดการว่างงานของประชาชน และให้ความสำคัญถึงความปลอดภัยในการจัดการขยะติดเชื้อ ซึ่งมีการเก็บขนและกำจัดโดยโรงงานเตาเผาขยะติดเชื้อที่ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาล
และด้วยความพร้อมของโครงข่ายทางการสื่อสารภายในเขตเทศบาล เทศบาลได้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ และช่วงเวลาในการรับถุงยังชีพ ผ่านระบบบริหารจัดการถุงยังชีพ (Web Application) เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และลดความแออัดในสถานที่แจกถุงยังชีพ

พร้อมจัดทำ ระบบคัดกรองความเสี่ยงโควิคเบื้องต้น (Web Application) เพื่อคัดแยกประชาชนกลุ่มความเสี่ยง ที่เดินทางเข้ามาในเขตเทศบาล ว่ามีความเสี่ยงระดับไหน ก่อนจัดส่งให้กองการแพทย์ติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินผลในพื้นที่
และที่สำคัญ เทศบาลนครภูเก็ตได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง มาช่วยในส่วนของการแก้ไขปัญหา และช่วยสนับสนุนงบประมาณ เพื่อต่อยอดการพัฒนาในหลาย ๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสายไฟฟ้าลงดิน โครงการซ่อมแซมเขื่อน โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการ ที่มีแผนในการแก้ไข และพัฒนาในเขตเทศบาลนครภูเก็ต
วันนี้ การพัฒนาเมืองของเทศบาลนครภูเก็ต ครอบคลุมทั้งกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด ทำให้ประชาชนยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยมีความมุ่งหวังให้เขตเทศบาลนครภูเก็ตเป็น “นครแห่งการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม น่าอยู่ ปลอดภัย ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี”